SUP Board พายไม่เป็นก็เล่นได้
SUP หรือ Stand Up Paddle Board จัดอยู่ในประเภทกีฬาเอ็กซ์ตรีม แต่ก็ไม่ดุเดือดเลือดพล่านหรือยากเกินไป สำหรับคนที่ยังไม่เคยพาย แค่ลองเปิดใจแล้วทำตามคำแนะนำ รับรองว่าการพาย SUP แสนเท่ออกไปสู่ผืนน้ำ เปิดประสบการณ์และมุมมองใหม่แบบที่หาไม่ได้จากการยืนดูบนฝั่ง ก็ไม่ใช่เรื่องยากเกินไป
มาเริ่มกันที่พื้นฐานที่สุดของการเล่น SUP ประการแรก อย่าเพิ่งรีบร้อนลากบอร์ดกระโจนลงน้ำ แต่ควรทำความคุ้นเคยกับเรื่องเล็กๆ ดังต่อไปนี้ก่อน
1. ปรับระยะไม้พายให้เหมาะสมกับความสูง
ไม้พาย (Paddle) จะแบ่งเป็นสองประเภทหลักๆ คือ แบบ Fixed คือแบบปรับระยะไม่ได้ ต้องวัดระยะเอื้อมแขนเพื่อตัดด้ามพายให้ได้ความยาวพอดี และแบบ Adjusted คือแบบปรับระยะได้ มีตัวล็อกประเภท Quick Release ปลดแล้วยืดหดด้ามพายได้ ซึ่งความยาวของด้ามเบื้องต้นคือตั้งไม้พายโดยให้ด้านใบพายทิ่มลงกับพื้น แล้วยืดแขนขึ้นให้สุด หักข้อมือลง ระยะที่จับปลายด้ามพายคือระยะเหมาะสมในเบื้องต้น
แต่เป็นเพียงสูตรง่ายๆ เท่านั้น เพราะเมื่อพายไปจนถึงจุดหนึ่ง จะเริ่มมีความยาวด้ามพายที่ถนัดของแต่ละคน เช่น บางคนเอามือทำท่า Shaka (กำมือแล้วกางนิ้วโป้งกับนิ้วก้อยออก เหมือนท่าโทรศัพท์ เป็นสัญลักษณ์ทักทายของชาวฮาวายและชาว Surf) แล้วตั้งนิ้วโป้งบนศีรษะ ที่ปลายนิ้วก้อยคือระยะความยาวของไม้พาย เป็นต้น
2. จับไม้พายให้ถูก
ได้ความยาวไม้พายแล้วมาถึงการจับไม้พาย ถือเป็นหัวใจของการพาย SUP เลยทีเดียว ทำง่ายเพียงใช้มือหนึ่งกำที่ปลายด้ามไม้พาย (ที่มีลักษณะเหมือนตัว T) อีกมือจับตรงกลางด้ามแล้วยกขึ้นเหนือศีรษะ งอแขนทั้งสองข้างลง ให้แขนข้างที่กำตัว T งอ 90 องศา หลังจากนั้นค่อยๆ เลื่อนมือที่จับกลางด้ามเข้ามาเพื่อให้แขนทั้งสองงอ 90 องศาเท่ากัน ระยะที่มือจับไม้พายอยู่นั้นคือระยะที่เหมาะสมที่สุดของการพาย
แต่ก็เช่นเคย ระยะเหล่านี้จะปรับเปลี่ยนไปตามท่าทางการพาย เพียงแต่ให้ยึดระยะดังกล่าวไว้เป็นพื้นฐานในการพายทั่วไป
แนะนำ สำหรับ มือใหม่ การพายในแม่น้ำ ที่มี แก่งน้ำ หรือ น้ำไหลเร็ว - แรง แนะนำ ให้ใช้พาย 2 ใบพาย (ไม้พายเรือคยัค) จะทำให้พายได้สนุก รวดเร็วกว่ากระแสน้ำ การพายด้วยไม้พาย 2 ใบ จะเรียกว่า SUP KAYAK หรือ SUP-YAK สำหรับคนที่เกือบจะเป็น Office SynDrome การใช้ใบพาย 2 ใบ (พายคยัค) จะช่วยยืดเส้น คลายกล้ามเนื้อ ได้ดีกว่า
3. ท่าพายดี มีชัยไปกว่าครึ่ง
ก่อนลงไปพายในน้ำ ให้ลองวางบอร์ดบนพื้น แนะนำเป็นพื้นหญ้าหรือพื้นทรายเพื่อลดความเสียหายของใต้บอร์ด แล้วขึ้นไปยืนบนกลางบอร์ด เท้าสองข้างขนานกัน กางออกกว้างระยะเดียวกับไหล่ หลังจากนั้นลองพายโดยเหยียดแขนสองข้างไปด้านหน้า เฉียงออกไปทางข้างบอร์ดให้ใบพายอยู่ข้างบอร์ด
จังหวะการพายที่ดีคือแขนที่อยู่ด้านบนควรยืดตรง ไม่งอขณะพาย ส่วนแขนที่อยู่ด้านล่างจะงอตามจังหวะดึงและดันด้ามพาย แต่อย่าลืมสังเกตว่าใบพายของ SUP จะมีองศาใบที่เฉียงพอสมควร ให้หันด้านที่เฉียงออกไปด้านหน้าบอร์ดเสมอ
4. ทำความเข้าใจเรื่องการเลี้ยวให้ดี
วิธีการเลี้ยว SUP ทำได้หลายวิธีมาก วิธีแรกซึ่งคนพายเรือมักจะใช้กันคือพายทวนไปด้านหน้า วิธีนี้ง่ายแต่ทำให้เลี้ยวได้ช้า และการจ้วงพายย้อนกลับอาจกระชากคนพายตกน้ำได้เลย สามวิธีที่จะแนะนำต่อไปนี้ ไม่ยากและไม่ง่าย แต่ถ้าหากทำความเข้าใจและฝึกจนชิน จะทำให้การพาย SUP ทั้งสนุกและปลอดภัย
วิธีที่หนึ่ง: พายแบบเขี่ยน้ำที่หัวบอร์ด หากต้องการเลี้ยวซ้ายให้เขี่ยน้ำที่หัวบอร์ดด้านขวา เขี่ยออกด้านข้าง ทำนองว่าผลักน้ำให้บอร์ดหันไปอีกทางหนึ่ง หากต้องเลี้ยวขวาให้ทำในทางตรงกันข้าม วิธีนี้เป็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า คือไม่ได้เลี้ยวได้ไว แต่ช่วยปรับทิศทางได้ขณะพาย
วิธีที่สอง: เลี้ยวทางไหน จิ้มใบพายไปทางนั้น เช่น จะเลี้ยวทางซ้าย เมื่อพายอยู่ฝั่งขวาของบอร์ด ไม่ต้องเปลี่ยนตำแหน่งมือ เพียงดึงมือซ้ายที่ปลายด้ามเข้าหาตัว แล้วเอี้ยวใบพายไปฝั่งซ้ายของหัวบอร์ด จากนั้นจิ้มใบพายลงน้ำในลักษณะเหมือนสับมีดลงน้ำ จุดที่จะทำให้บอร์ดเลี้ยวไปคือทิศทางที่ใบพายชี้ไปทางนั้น หลักการเดียวกับใช้ใบพายแทนหางเสือที่มาอยู่ด้านหน้านั่นเอง
วิธีที่สาม: Cross Bow Turn หรือบางคนเรียก Cross Over Turn วิธีนี้ถือเป็นท่ามาตรฐานที่ควรทำได้ ถ้าทำได้รับรองว่าพายไปได้ทุกที่ มีหลักการง่ายๆ โดยต่อยอดมาจากวิธีที่สองคือ จิ้มใบพายไปในทิศทางที่ต้องการเลี้ยว แต่เพิ่มการกวาดไม้พายเข้าหาหัวบอร์ด แล้วข้ามมากวาดต่ออีกฝั่งออกจากหัวบอร์ดในลักษณะครึ่งวงกลม เช่น เลี้ยวซ้ายให้จิ้มใบพายที่หัวบอร์ดทางซ้าย กวาดใบพายมาทางขวาเข้าหาบอร์ด พอถึงหัวบอร์ด ยกใบพายข้ามมาฝั่งขวาแล้วกวาดออกไปด้านขวาตีเป็นครึ่งวงกลม บอร์ดจะหันหัวไปทางซ้ายค่อนข้างไวมาก เป็นต้น
5. ถึงจะเป็นกระดานยืนพาย แต่ไม่ต้องรีบยืน
เข้าใจทักษะพื้นฐานที่จำเป็นแล้วก็ได้เวลาลงน้ำ หลังจากเตรียมอุปกรณ์ให้พร้อม ทั้งติดหางเสือ (Fin), สวมเสื้อชูชีพ และรัดสายรัดขา (Leash) เมื่อเริ่มขึ้นบอร์ดให้ขึ้นไปนั่งคุกเข่าอยู่บริเวณกลางบอร์ดก่อน จุดกลางบอร์ดคือตำแหน่งเดียวกันมือจับสำหรับยกบอร์ด (Handle) เพราะเป็นตำแหน่งที่สมดุลที่สุดของ SUP
เริ่มพายด้วยท่านั่งคุกเข่า ยืดตัวขึ้น อย่านั่งขัดสมาธิเด็ดขาด เพราะจะทำให้เสียการทรงตัวเมื่อจะลุกขึ้นสำหรับมือใหม่ พายด้วยท่าดังกล่าวจนเริ่มชิน
6. ได้เวลายืนพาย ฉันจะไปเป็น SUPPER
การจะเริ่มยืนพายไม่ต้องรีบร้อน เราจะแนะนำสองวิธีง่ายๆ ใครก็ยืนได้บนบอร์ดที่โคลงเคลง
วิธีที่หนึ่ง: ตั้งสติ ตั้งไม้พายขึ้น ให้ใบพายปักลงบริเวณกลางบอร์ด มองไปข้างหน้า แล้วค่อยๆ ไต่ไม้พายขึ้นจนยืนตรง ท่าเดียวกับตอนฝึกบนบก ยังไม่ต้องรีบพาย พยายามทรงตัวให้ได้ก่อน เมื่อทรงตัวได้แล้วจึงค่อยๆ พาย
วิธีที่สอง: ตั้งสติเช่นกัน วางไม้พายแนวขวางกับตัวบอร์ด มือสองข้างจับที่ด้ามไม้พาย มองไปข้างหน้าแล้วดันตัวขึ้น ชันขาขึ้นทีละข้าง แต่ต้องทำต่อเนื่อง ไม่ค้างไว้นาน มิเช่นนั้นบอร์ดจะเอียง เมื่อยืนได้สองขาแล้วยืดตัวขึ้นยืน ทรงตัวให้ได้ แล้วค่อยๆ พายไปสู่โลกกว้างกันเลย
เคล็ดไม่ลับ: ไม่ว่าจะยืนด้วยท่าไหน ตาต้องมองไปข้างหน้า ห้ามก้มมองบอร์ดเด็ดขาด รับรองว่าก้มมองแล้วร่วงน้ำแน่นอน
7. ตกน้ำคือเรื่องปกติ
สั้นๆ แต่ได้ใจความ เพราะการตกน้ำคือของคู่กันกับ SUP ดังนั้นตกน้ำได้ แต่ไม่ต้องตกใจ ตกแล้วขึ้นมาพายใหม่ได้เสมอ สิ่งสำคัญคือห้ามลืมรัดสาย Leash เพราะจะช่วยให้คนกับบอร์ดยังอยู่ด้วยกัน เมื่อรู้ตัวว่าจะตกน้ำให้ปล่อยตัวปล่อยใจ อย่าพยายามคว้าบอร์ดตอนตก เพราะอาจทำให้แขนขาไปฟาดกับบอร์ดได้
เมื่อตกน้ำแล้วให้กลับมาเกาะบอร์ดไว้ ตราบใดที่เกาะบอร์ดเท่ากับไม่จมน้ำ พักให้หายเหนื่อยหรือหายตกใจ แล้วขยับมาที่กลางบอร์ด เอื้อมมือข้างหนึ่งจับที่มือจับ (Handle) อีกมือเอื้อมไปเกาะขอบบอร์ดอีกฝั่ง แล้วตีขาเหมือนว่ายน้ำ ระวังอย่าให้ขาไปมุดอยู่ใต้บอร์ดเด็ดขาด เมื่อตีขาจะเกิดแรงผลักเราเข้าหาบอร์ด พอได้จังหวะให้ดึงมือทั้งสองข้าง พร้อมกับดันตัวขึ้นไปบนบอร์ดในท่านอนคว่ำก่อนแล้วค่อยกลับมานั่งและยืนพายต่อไป
เมื่อรู้ทริกแบบนี้แล้ว ลองไปซ้อมกับ SUP Board ของจริงดู เราเชื่อว่าคุณจะเล่นง่ายขึ้นมากเชียวละ
ชุมเสือ ให้บริการ เช่า SUP ชม. ละ 300 บาท หากนำเที่ยว ระยะทาง 7 กม. คนละ 500 บาท พร้อม รถรับกลับ
แชร์ :
หัวข้อที่เกี่ยวข้อง
ล่องแก่ง แม่น้ำนครนายก Rafting Nakhonnayok
พายเรือ แคนู , คยัค , SUP Board แม่น้ำนครนายก
พาย SUP ชมแม่น้ำนครนายก